หน้าแรก   ห้องที่ 1   ห้องที่ 2   ห้องที่ 3   ห้องที่ 4   ห้องที่ 5   ห้องที่ 6   ห้องที่ 7   ห้องที่ 8   ห้องที่ 9   คณะกรรมการบริหาร

  หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน

  หออัตลักษณ์นครน่าน

ห้องที่ 2 วิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่าน สู่รัตนโกสินทร์

วิวัฒนาการสายสัมพันธ์เมืองน่านสู่รัตนโกสินทร์

นำเสนอเกี่ยวกับประวัติและเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสมัยต่างๆ จนก้าวเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ โดยนำเสนอผ่านการเล่าเรื่องด้วยสายน้ำน่านจากเหตุการณ์ในอดีตที่สำคัญและตัวแบบจำลอง

           เมืองน่าน เป็นดินแดนโบราณที่มีผู้คนอาศัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากพบเครื่องมือหินกะเทาะและแหล่งผลิตเครื่องมือหิน อายุราว ๓๕,๐๐๐–๒๕,๐๐๐ ปี บริเวณเขาแก้ว เขาชมพู ดอยปู่แก้ว ดอยภูทอก บ้านทุ่งผง และเขตอำเภอเวียงสา นอกจากนี้ยังมีการค้นพบกลองมโหระทึกแบบวัฒนธรรมดองซอน อายุราว ๒,๕๐๐-๒,๐๕๐ ปี ที่บ้านบ่อหลวง ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ ก่อนจะรวมตัวเป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ขึ้นในบริเวณที่ราบระหว่างหุบเขาทางตอนบนของต้นแม่น้ำน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

House

กลองมโหระทึก

House

กลองมโหระทึก

House

กลองมโหระทึก

           “น่าน” เป็นทั้งชื่อเมืองและชื่อจังหวัดหนึ่งในล้านนาตะวันออก มีประวัติความเป็นมายาวนาน ชื่อเมือง “น่าน” จากเอกสารและตำนานพื้นเมือง เรียกชื่อเมืองน่าน แตกต่างกันไป ตำนานเก่า มักเรียกชาวเมืองน่านว่า “กาวน่าน” สันนิษฐานว่า “กาว”เลือนมาจากภาษาจีนว่า “แกว กอย ก้อ และ กุ๊ย” (หมายถึงพวกดำมืดหรืออนารยชน) ส่วนคำว่า “น่าน” มีสำเนียงคล้ายจีนว่า “น่าง” หรือ “น่างเจียง” แปลว่าทางทิศใต้ “กาวน่าน” จึงน่าจะเป็นคำที่ชาวจีนเรียกเมืองน่าน โดยหมายถึงพวกอนารยชนที่อยู่ทางทิศใต้

ช่วงสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – พ.ศ.๑๙๑๑)

House

พญาภูคา

           ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พญาภูคา ได้นำชาวไทยกลุ่มหนึ่งเข้าอยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนบนของจังหวัดน่าน ตั้งศูนย์กลางการปกครองที่เมืองย่าง (เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้กับดอยภูคา เขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) ต่อมาเจ้าขุนฟองราชบุตรบุญธรรมของพญาภูคา ได้นำไพร่พลไปตั้งเมืองขึ้นอีกแห่งหนึ่ง บริเวณที่ ราบแถบตำบลศิลาเพชร ในเขตอำเภอปัว เรียกชื่อว่า “เมืองปัว” เมื่อบ้านเมืองเริ่มเป็นปึกแผ่น พญาภูคาได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาในพื้นที่เมืองปัวชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากเจ้าขุนฟองถึงแก่พิราลัย เมืองปัวจึงเริ่มมีความสัมพันธภาพกับกรุงสุโขทัยในช่วงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กับหัวเมืองอื่น ๆ ที่อยู่ในการปกครองของกรุงสุโขทัย


           ในสมัยพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานองบ้านเมืองมีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ ๗ องค์ พระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้กับพญาการเมือง มาบูชา ณ เมืองปัวด้วย พญาการเมืองได้ปรึกษาพระมหาพระธาตุแช่แห้ง ในปี พ.ศ.๑๙๐๒ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง บริเวณที่ราบตอนล่างทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน โดยพระองค์ได้สร้างองค์พระธาตุชื่อ “พระธาตุแช่แห้ง” ภายในบรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ซึ่งได้มาจากกรุงสุโขทัย พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า “เวียงภูเพียงแช่แห้ง” โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

House

พระธาตุแช่แห้ง


           เหตุที่ย้ายเมืองครั้งนี้อาจด้วยจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ที่อยู่อาศัยในบริเวณเดิมไม่เพียงพอ จึงนับเป็นโอกาสที่จะขยายอาณาเขตของเมืองให้กว้างขวางออกไปจนจรดกับเมืองแพร่ที่อยู่ทางตอนใต้ อีกทั้งที่ตั้งของเมืองใหม่ยังอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า และสะดวกต่อการติดต่อระหว่างหัวเมืองในเขตปกครอง ดังนั้นพญาการเมืองจึงใช้กุศโลบายการสร้างพระธาตุเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนพากันลงมาตั้งเมืองใหม่ขึ้นทางตอนใต้ ต่อมาเมื่อบริเวณเวียงภูเพียงแช่แห้งเกิดความแห้งแล้ง พญาผากองโอรสพญาการเมืองจึงได้ย้ายเมืองมาสร้างขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ และการย้ายเมืองครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้าย เมืองน่านได้ตั้งอยู่ ณ ที่นี้นับแต่นั้นจวบจนปัจจุบัน


ความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัย (พ.ศ.๑๙๑๕ - พ.ศ.๑๙๘๑)

           ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย มีปรากฏในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก ได้แก่ จารึกหลักที่ ๘ หลักที่ ๔๕ และหลักที่ ๖๔ ข้อความกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางด้านการปกครองและความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ความสัมพันธ์ทางการปกครองปรากฏในจารึกหลักที่ ๘ จารึกขึ้นในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ราวปี พ.ศ.๑๙๑๕ มีข้อความที่กล่าวถึงเมืองน่านว่า “.....เบื้องเหนือน้ำน่าน.......ถึง......เจ้าพญาผากอง เจ้าเมืองน่านเมืองพลั่ว.........” ส่วนความสัมพันธ์ทางเครือญาติ นั้น ปรากฏในจารึกหลักที่ ๔๕ และหลักที่ ๖๔ (จารึกวัดช้างค้ำ) มีข้อความกล่าวถึงการกระทำสัตสาบานระหว่างพญาผากอง (ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่) และพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน) ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ ว่าจะช่วยเหลือกันเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดศึกสงคราม และก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.๑๙๑๙ พญาผากองได้เคยยกทัพจากเมืองน่านมาช่วยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ คราวทำศึกกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยาที่เมืองกำแพงเพชร แต่ในการศึกครั้งนั้น ทั้งสองพระองค์ไม่อาจทานกำลังทัพจากกรุงศรีอยุธยาได้ ด้วยเหตุนี้กรุงศรีอยุธยาจึงพยายามตัดกำลังกรุงสุโขทัยทางด้านเหนือ โดยส่งขุนนางมาลอบปลงพระชนม์เจ้าผู้ครองนครน่าน ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน คือ พญาการเมือง พ.ศ.๑๙๐๖ และเจ้าคำตัน พ.ศ.๑๙๔๑ แต่ไม่สามารถทำลายความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ จนกระทั่งกรุงสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ในสมัยเจ้าอินต๊ะแก่นท้าว ปี พ.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อพระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่ ขึ้นเสวยราชสมบัติ พระองค์ต้องการแผ่ขยายอำนาจการปกครอง จึงแต่งทัพเข้าตีเมืองน่าน ปี พ.ศ.๑๙๙๑ เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา


เมืองน่านขึ้นกับอาณาจักรล้านนา (พ.ศ.๑๙๙๓ - พ.ศ.๒๑๐๑)

House

ตราอาณาจักรล้านนา

           เมืองน่านได้ดำรงอิสระมา ๗๒ ปี มีเจ้าเมืองสืบราชสมบัติผลัดเปลี่ยนกันมาตลอด ภายหลังเมื่อถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา ระยะแรกเมืองน่านมีฐานะเป็นเมืองประเทศราช โดยพระเจ้าติโลกราช ได้ให้เจ้าผาแสง ราชบุตรของพญาแพง ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนคร เมื่อพญาผาแสงถึงแก่พิราลัย ฐานะของเมืองน่านจึงกลายเป็นหัวเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนา โดยมีการส่งเจ้าเมืองผลัดเปลี่ยนขึ้นมาปกครอง นับตั้งแต่หมื่นสร้อยเชียงของ จนถึงพญาพลเทพฤๅชัย ช่วงนั้นนับเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ความ เจริญรุ่งเรือง พระมหาธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานอันสำคัญของเมือง ที่ถูกปล่อยให้รกร้าง กลับได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้งดงามดังเดิม เมืองน่านตกอยู่ภายใต้ความปกครองของอาณาจักรล้านนากว่า ๑๐๘ ปี จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์ผู้ครองกรุงหงสาวดี ได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้น พระเมกุฏิ กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ มิอาจต้านทานกำลังของทัพพม่าได้ จึงยอมอ่อนน้อมเป็นประเทศราชของพม่า พลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านจึงได้หนีไปพึ่งเมืองหลวงพระบาง


เมืองน่านตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ.๒๑๐๓ - พ.ศ.๒๓๒๘)

           พระเจ้าบุเรงนองโปรดฯ ให้ พญาหน่อคำเสถียรชัยสงคราม มาเป็นเจ้าเมืองน่านแทน ตลอดช่วงระยะเวลา ๒๐๐ ปีเศษนั้น หัวเมืองล้านนาตกอยู่ในความระส่ำระสาย เพราะเกิดศึกสงครามทั้งกับพม่าและกรุงศรีอยุธยาอยู่เนืองๆ

           เมื่อพระนางสุทธิเทวีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เชื้อสายราชวงศ์มังรายองค์สุดท้าย ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.๒๑๒๒ พระเจ้าหงสาวดีได้ส่งมังนรธาช่อ มาครองเมืองเชียงใหม่เพื่อปกครองหัวเมืองล้านนา เมืองน่านจึงขึ้นตรงต่อการปกครองของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองน่านได้พยายามแข็งเมืองต่อพม่าหลายครั้ง แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ครั้งหนึ่งเจ้าผู้ครองนครน่านองค์หนึ่งคือ เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ถึงกับถูกจับตัวไปประหารที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๑๔๖ อีก ๒๐ ปีต่อมา เจ้าอุ่นเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านอีกองค์หนึ่งต้องหนีภัยลงไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ในเวลานั้นตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๓ - พ.ศ.๒๑๗๑) ในปี พ.ศ.๒๑๖๗ พระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งกรุงหงสาวดีได้ยกทัพมาตีเมืองน่าน กวาดต้อนผู้คนไปเมืองหงสาวดี และได้มีการโยกย้ายสับเปลี่ยนเจ้าเมืองในเขตหัวเมืองล้านนาเข้ามาปกครองเมืองน่านอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ.๒๑๖๗ เมืองน่านต้องรับศึกสงคราม ๒ ด้าน คือกองทัพจากพม่าและ กองทัพจากกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในเอกสารว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งกองทัพมาตีเมืองน่านในปี พ.ศ.๒๒๐๕ และจับตัวพญาแหลมมุม (ครองเมืองน่านระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๑ - พ.ศ.๒๒๐๕) ลงไปยังกรุงศรีอยุธยา ทางเมืองน่านจึงยกพญายอดใจผู้น้องของพญาแหลมมุมขึ้นครองเมืองน่านในปี พ.ศ.๒๒๐๗ และในปี พ.ศ.๒๒๓๐ พญายอดใจถึงแก่พิราลัย พระเมืองราชาผู้น้องสุดท้องจึงได้ขึ้นครองเมืองน่านสืบต่อมา

           ปี พ.ศ.๒๒๔๖ พระเมืองราชาได้แข็งเมืองต่อพม่า พระเจ้ากรุงอังวะจึงส่งกองทัพจากเมืองเชียงใหม่มาปราบปราม ทำให้เมืองน่านเสียหายอย่างหนัก ผู้คนพากันละทิ้งบ้านเรือนอพยพหนีภัยสงครามเข้าไปอยู่ตามป่าตามเขา ครั้งนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อน้อยอินทร์ ได้พยายามชักจูงผู้คนให้กลับมาสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ เมื่อความทราบไปถึงพระเจ้ากรุงอังวะจึงโปรดให้ตั้งน้อยอินทร์เป็นพระนาซ้ายผู้รักษาเมือง ต่อมาพระเจ้ากรุงอังวะได้ส่งเจ้าฟ้าเมืองคองมาเป็นเจ้าเมืองน่าน และเมื่อเจ้าฟ้าเมืองคองถึงแก่พิราลัย ทรงส่งเจ้าฟ้าเมียวซามาเป็นเจ้าเมืองคนต่อไป เมื่อเจ้าฟ้าเมียวซาถึงแก่พิราลัย พระนาซ้ายซึ่งต่อมาได้เป็นพญานาขวา (น้อยอินทร์) ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระเจ้ากรุงอังวะอัญเชิญพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์เจ้าเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าเมืองน่านในปี พ.ศ.๒๒๖๙ เมืองน่านจึงมีเจ้าผู้ครองนคร โดยการสืบเชื้อสายลำดับราชวงศ์อีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ (ต้นสกุล ณ น่าน)

           ในปี พ.ศ.๒๓๐๓ พระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่าเสด็จสวรรคต หัวเมืองล้านนาถือโอกาสกระด้างกระเดื่อง พระเจ้ามังลอกเสด็จเสวยราชย์ต่อจากพระเจ้าอลองพญา ได้ส่งแม่ทัพชื่ออภัยคามณีมาตีเมืองเชียงใหม่และหัวเมืองอื่นๆ เวลานั้นเจ้าอริยวงศ์ผู้ครองนครเมืองน่าน ได้หันไปอ่อนน้อมกับพม่าดังเดิม เมื่อปราบปรามหัวเมืองล้านนาราบคาบแล้ว พระเจ้ามังลอกทรงแต่งตั้งให้อภัยคามณีเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๐๖ พระเจ้ามังระเสวยราชย์ครองเมืองอังวะ อภัยคามณีได้ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงอังวะองค์ใหม่ เจ้านายท้าวพญาในหัวเมืองล้านนาซึ่งได้กำลังสนับสนุนจากหลวงพระบางถือโอกาสพากันแข็งเมือง พระเจ้ามังระจึงทรงให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพนำกำลังร่วมกับกองทัพของอภัยคามณียกมาปราบปราบอีกครั้ง จากนั้นในปี พ.ศ.๒๓๑๐ หัวเมืองล้านนาได้สนับสนุนทัพพม่า นำโดยอภัยคามณียกมาตีกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นเจ้าอริยวงศ์เจ้าผู้ครองนครน่านได้มอบหมายเจ้านายอ้ายผู้เป็นหลานคุมกำลังพลเมืองน่านมาสมทบกับกองทัพพม่า ในปีนั้นกรุงศรีอยุธยาได้เสียเอกราชแก่พม่าเป็นครั้งที่ ๒

House

พระเจ้าบุเรงนอง


สมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐ – พ.ศ. ๒๓๓๑)

           เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ หัวเมืองล้านนายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระองค์จึงทรงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกไม่สามารถตีได้ จึงยกขึ้นมาอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๓๑๗ ครั้งนั้นพญาจ่าบ้าน เจ้าเมืองเชียงใหม่ และพญากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ได้หันมาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย นำกำลังผู้คนเข้ามาสมทบตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนทางเมืองน่านซึ่งในเวลานั้นยังอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าได้มอบให้เจ้าน้อยวิธูร ตำแหน่งเจ้านาขวา เกณฑ์พลมาช่วยพม่าป้องกันเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีโปมะยุง่วนเป็นเจ้าเมือง แต่ไม่สามารถต้านกำลังทัพไทยได้ จึงทิ้งเมืองไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงแสน ส่วนเจ้าน้อยวิธูรถูกจับกุม หลังจาก ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๑๗ มีชัยชนะเหนือเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้เจ้าพระยาจักรี อยู่จัดการปกครองหัวเมืองล้านนา ครั้งนั้นได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้าฟ้าเมืองน่าน ยอมสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่ กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตกรุงสยาม นับตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ.๒๓๑๗ เป็นต้นมา

           ในเดือน ๔ ของปี พระเจ้ากรุงธนบุรี ติดศึกพม่าที่บางแคร์ เจ้าพระยาจักรี ยกกองทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่ตามออกไปถึง(เอกสารจากพงศาวดาร ไทยรบพม่า พงศาวดารกรุงธนบุรี) พาทูตเมืองน่านมาถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการของเจ้าฟ้าเมืองน่าน ซึ่งอ่อนน้อมยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาออกไปเฝ้าด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงพระปีติโสมนัส ตรัสสรรเสริญความชอบของเจ้าพระยาจักรี และพระราชทานพระแสงดาบฝักทองกับพระธำมรงค์เพชรวงหนึ่งเป็นบำเหน็จ

           ครั้นต่อมาเจ้าน้อยวิธูรกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายไทย พญากาวิละเจ้าผู้ครองนครลำปาง จึงนำกำลังไปควบคุมตัวเจ้าน้อยวิธูร พร้อมทั้งครอบครัวส่งลงมากรุงธนบุรีในปี พ.ศ.๒๓๒๑ เป็นเหตุให้เมืองน่านขาดเจ้าผู้ครองนคร กองทัพพม่าจากเมืองเชียงแสนจึงได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนในเมืองน่านไปไว้ที่เมืองเชียงแสน เมืองน่านจึงถูกทิ้งร้างเป็นครั้งที่ ๒ เป็นเวลาถึง ๒๓ ปี นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองน่านตกอยู่ใน

           ความวุ่นวายสับสน เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามบ้านเล็กเมืองน้อยในเขตเมืองน่านและหัวเมืองใกล้เคียงพากันแตกความสามัคคี แบ่งแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่าย บ้างหันไปเข้ากับพม่า บ้างเข้ากับไทย กอบกับห้วงเวลาดังกล่าวที่กรุงธนบุรีเกิดเหตุการณ์ไม่สงบ มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน และย้ายราชธา


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๓๑ - พ.ศ.๒๔๗๔)

House

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

           ปี พ.ศ.๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นองค์ปฐมบรมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี และในปีต่อมา ทรงแต่งตั้งเจ้าหนานนันทปโชติผู้ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าอริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน (ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๙๗ - พ.ศ.๒๓๑๑) ขึ้นเป็นพญามงคลวรยศ ให้มาครองเมืองน่าน ช่วงเวลานั้นเมืองน่านยังคงรกร้างว่างเปล่า พญามงคลวรยศจึงคงตั้งมั่นอยู่ที่บ้านท่าปลา ฝ่ายทางพม่าได้แต่งตั้งเจ้าอัตถวรปัญโญ ลูกหลานเชื้อสายเจ้าเมืองน่านขึ้นเป็นเจ้าเมืองน่านเช่นกัน เจ้าอัตถวรปัญโญได้ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเทิง และเจ้าสุมนเทวราชผู้เป็นน้องของพญามงคลวรยศได้ตั้งมั่นอยู่ที่เวียงสา

           หลังจากที่เมืองเชียงแสนถูกกำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือตีได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ เจ้าอัตถวรปัญโญได้นำครอบครัวชาวน่านและชาวเมืองเทิงย้ายลงมาอยู่ที่บ้านถิด เขตเมืองน่าน

           ต่อมาเกิดกรณีวิวาทกับเจ้าสุมนเทวราชผู้เป็นน้า พญามงคลวรยศได้ไกล่เกลี่ยและยกเมืองน่านให้เจ้าอัตถวรปัญโญ ขึ้นครองเมือง

           ต้นรัชกาล เมืองน่านจึงมีเจ้าเมืองเป็นสองฝ่าย คือ พระยามงคลวรยศ เป็นเจ้าเมืองฝ่ายกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา และอีกฝ่ายหนึ่งมีเจ้าอัตถวรปัญโญ (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า) ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าเมืองฝ่ายบุรรัตนอังวะ ตั้งอยู่ที่เมืองเทิง

           ต้นรัชกาล เมืองน่านจึงมีเจ้าเมืองเป็นสองฝ่าย คือ พระยามงคลวรยศ เป็นเจ้าเมืองฝ่ายกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ที่ท่าปลา และอีกฝ่ายหนึ่งมีเจ้าอัตถวรปัญโญ (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้า) ผู้เป็นหลาน เป็นเจ้าเมืองฝ่ายบุรรัตนอังวะ ตั้งอยู่ที่เมืองเทิง

           ปี พ.ศ.๒๓๒๙ เจ้าอัตถวรปัญโญได้ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยามงคลวรยศมีความยินดี จึงมอบบ้านเมืองให้เจ้าอัตถวรปัญโญเป็นผู้ครองเมือง ล่วงมาหนึ่งปีเจ้าอัตถวรปัญโญได้ลงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอัตถวรปัญโญดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองน่านต่อไปตามเดิม


1 / 6
2 / 6
3 / 6
4 / 6
5 / 6
6 / 6
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์