ประเพณีแข่งเรือในจังหวัดน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาแต่ครั้งโบราณจะจัดแข่งขันกันเองในฤดูน้ำหลาก น้ำขึ้น (ฤดูฝน) ในเทศกาลตานก๋วยสลาก (สลากภัต) โดยแต่ละวัดจะนำเรือของตนเข้าแข่งขันเพื่อเป็นการสมานความสามัคคีกัน ของคนในชุมชน
กล่าวว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรือแข่งจังหวัดน่าน ที่มีความงดงามที่สุดในประเทศไทย โดยเฉพาะเอกลักษณ์ทาง “หัวเรือ” หรือ “โขนเรือ” ที่จำหลักเป็นรูปพญานาคแบบล้านนา ที่กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายของเรือก็จะเป็นส่วนหางของพญานาค ที่มีความสวยงามกลมกลืนกัน
การสร้างหัวเรือรูปพญานาคนั้น ชาวน่านเชื่อว่า พญานาคเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ บันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ก่อนลงมือแข่งเรือจะทำการคารวะสายน้ำน่าน อันเปรียบเสมือนผู้หล่อเลี้ยงชีวิตของตนเองทุกครั้ง
ประเพณีหกเป็ง ไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่อดีต กล่าวกันว่าในช่วงฤดูเทศกาลเพ็ญเดือน ๖ (เหนือ) เจ้าผู้ครองนครน่านพร้อมด้วยข้าราชบริพารจะพากันไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งเป็นพระธาตุสำคัญของชาวจังหวัดน่าน โดยวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๖ นั้น ขบวนแห่ของเจ้าเมืองน่าน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่างๆ จะพร้อมกันที่บริเวณรอบๆ เนินภูเพียงแช่แห้ง จะมีพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยมีการทำบุญตักบาตร เทศน์มหาชาติ บรรยายธรรมะ และมีการจุดบอกไฟดอก (จุดบั้งไฟ) ซึ่งมีลักษณะเป็นไฟพะเนียงพื้นบ้าน มีความสวยงามยามค่ำคืน พอถึงวันขึ้น ๑๘ ค่ำ เดือน ๖ ขบวนพุทธศาสนิกชนจะทำครัวตาน (เครื่องไทยทาน) ไปถวายและสรงน้ำพระธาตุแช่แห้ง ในภาคเช้าจะมีพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนาในภาคบ่ายจะมีการถวายเป็นพุทธบูชา โดยการจุดบ๊อกไฟขึ้น (จุดบั้งไฟ) และมีการแสดงพระธรรมเทศนา โดยการเทศน์มหาชาติสืบเนื่องต่อจากวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ซึ่งศาสนกิจดังกล่าวทั้งหมดนี้ ได้ปฏิบัติเป็นประเพณีของชชาวจังหวัดน่านสืบต่อกันมา
“เมืองน่าน” ก็เป็นอีกเมืองหนึ่ง ที่มีงานหัถตกรรมการทำเครื่องเงิน ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์งดงามไม่แพ้ที่ใด จนกลายมาเป็นหนึ่งในของฝากที่ขึ้นชื่อของเมืองน่าน ความพิเศษที่ทำให้เครื่องเงินเมืองน่านไม่เหมือนที่อื่น คือ เครื่องเงินของเมืองน่าน จะ “ผสมเม็ดเงินมากเป็นพิเศษ” เมื่อเสร็จออกมาจะเป็นเครื่องประดับที่ไม่แข็งเกินไป จะค่อนไปในทางอ่อน แต่ก็สามารถใช้ได้ตามปกติ จุดเด่นอันเป็นจุดต่างจึงอยู่ที่ส่วนผสม แบบ และฝีมือ เครื่องเงินจังหวัดน่าน ขึ้นชื่อในเรื่องความละเอียดของฝีมือ และมีลวดลายเฉพาะตัว
ผ้าทอเมืองน่านเป็นผ้าที่ทอจากฝ้าย ในอดีตนั้นจะใช้ฝ้ายที่มีในท้องถิ่น โดยเริ่มจากการปลูกฝ้าย และเข้าสู่ขบวนการผลิตเป็นเส้นด้าย โดยภูมิปัญญาของท้องถิ่นทั้งหมด รวมทั้งกรรมวิธีย้อมสีธรรมชาติ เช่น สีดำจากผลมะเกลือ สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากขมิ้น แก่นขนุนและสีน้ำตาลได้จากเปลือกต้นสุน เป็นต้น การสืบทอดทางวัฒนธรรม พบว่า ผู้ที่มีอาชีพทอผ้าส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยลื้อโบราณ
ลวดลายผ้าเมืองน่านจะเลียนแบบจากธรรมชาติ และลายเรขาคณิต ซึ่งลักษณะการทอจะมี 3 ประเภท
1) ลายล้วง หมายถึง ผ้าลายในเนื้อเกิดจากการใช้มือจับเส้นด้าย หรือไหมต่างสีสอด (ล้วง) ให้เกิดลายที่ต้องการขณะที่ทอ มีชื่อลายเรียกต่างกันออกไป เช่น ลายใบมีด ลายน้ำไหล ลายดอกไม้ ลายธาตุ ลายปู และลายจรวดที่พัฒนาขึ้นในระยะหลัง เป็นต้น
2) ลายเก็บมุก มีวิธีทอที่สลับซับซ้อนกว่าลายธรรมดา คล้ายวิธีที่ทำลายขิดภาคอิสาน ช่างทอจะเก็บลายที่ต้องการไว้ก่อนด้วยไม้ต่างขนาด คล้ายกับการสานเสื่อ เมื่อถึงเวลาทอจึงใช้เส้นด้ายพุ่งไปแทนที่ไม้เก็บมุกที่เก็บลายไว้ ลวดลายมีหลายชนิดด้วยกัน คือ
ลายดอกไม้ เช่น ลายดอกจันทร์แปดกลีบ ดอกแก้ว ดอกมะเฟือง ดอกกุหลาบ ดอกหมาก ดอกเปา (เต็งรัง) ผักกูด และข้าวลีบ ฯลฯ
ลายของใช้ เช่น ลายโดม ผาสาท (ปราสาท)
ลายสัตว์ เช่นลายนก นกกินน้ำต้น (คณโฑ) พญานาค นาคชน นาคหวัน (กระหวัด) ช้าง ช้างต่างม้า ม้าต่างหงส์ กระต่าย ฯลฯ
ลายเรขาคณิต เช่น ลายเส้นตรง ลายเหลี่ยม สี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขอน้อย ขอลวง ขอเหลียว ฯลฯ
ลายอื่นๆ เช่น ลายกาบ กาบหลวง กาบซ้อน เขี้ยวหมา (ลายยอด) รวมทั้งลายลื้อชนิดต่างๆ
3) ลายคาดก่าน วิธีทำคล้ายกับ "มัดหมี่อิสาน" คือ มัดย้อมลายที่ต้องการอย่างง่ายๆ ด้วยเชือกกล้วยลวดลายที่สำคัญได้แก่ ลายก่านแบบดั้งเดิม คาดก่านน้ำไหล และคาดก่านชนิดลายประดิษฐ์ ฯลฯ
ซิ่นพื้นเมืองน่านที่โดดเด่นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่
1) ซิ่นม่าน เป็นซิ่นที่มีลายขวางสลับริ้วสีพื้นไม่เกิน ๓ สี สีที่ใช้ เช่น สีดำ สีแดง ชมพู ม่วง มีลักษณะที่เด่นคือ มีป้าน การจัดช่องขนาดของลายไม่เท่ากัน ตีนซิ่นจะต้องมีสีแดงและป้านใหญ่ที่ต่อจากตีนซิ่นขึ้นไปจะใช้สีน้ำเงินเข้มหรือสีม่วง เพียงสีเดียวและคั่นด้วยริ้วไหมเงินไหมทองทอสลับทั้งผืน
2) ซิ่นป้อง เป็นซิ่นทอด้วยเทคนิคการขิด ลายขวางสลับริ้ว สีพื้นมีช่วงขนาดเท่ากันตลอด ลักษณะเด่น คือทอเป็นริ้วเล็ก ทอสลับกับลายมุกคั่นด้วยริ้วไหมเงินหรือไหมทองสีสลับนั้นเป็นสีเดียวกันทั้งผืน เช่น พื้นแดง พื้นเขียว พื้นสีน้ำตาล สลับลายมุก
3) ซิ่นคำเคิบ เป็นซิ่นที่ทอด้วยเทคนิคการเก็บขิดของชาวไทยวนจังหวัดน่าน โดยใช้ดิ้นทองเป็นเส้นพุ้งตลอดทั้งผืน ลวดลายซิ่นจะเป็นลวดลายขนาดเล็กนิยมต่อตีนที่เป็นจกด้วยดิ้นทองเช่นกัน แต่บางผืนอาจจะไม่ต่อตีนจกแต่ทอด้วยผ้าฝ้ายสีพื้นธรรมดา
4) ซิ่นก่าน เป็นซิ่นของชาวไทลื้อ เมืองน่านที่ทอด้วยลวดลายมัดหมี่ ในภาษาถิ่นเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือ “คาดก่าน” ซิ่นก่านนี้มีทั้งที่ทอในลักษณะโครงสร้างของซิ่นป้องและซิ่นม่าน เช่น ซิ่นก่านคอควายเป็นซิ่นพื้นบ้านของ ชาวไทยวน เป็นซิ่นสีดำมีริ้วสีแดงคาดตรงส่วนบนของตีนซิ่น (เหมือนกับการมัดหมี่ในภาคอีสานที่บ้านดอนไชย อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน)
5) ซิ่นเชียงแสน เป็นซิ่นที่มีลักษณะเป็นผืนผ้าสีแดงมีริ้วสีเข้ม เช่น สีดำ หรือ คราม เป็นลายขวางทอด้วยทคนิคขัดสานธรรมดาตลอดทั้งผืน ชื่อของ ซิ่นชนิดนี้ แสดงถึงแหล่งกำเนิดว่าเป็นเอกลักษณ์เก่าแก่ของชาวไทยเชียงแสนในอดีต
แกงส้มเมือง เป็นแกงยอดนิยมที่มีให้ลิ้มลองเกือบทุกร้านในตัวเมืองน่าน นิยมแกงใส่ปลา อย่างปลาคัง เพราะเนื้อเยอะก้างน้อยกินง่าย เครื่องแกงประกอบด้วย ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ใบมะกรูด ขมิ้นสด พริกชีฟ้าแห้ง และกะปิโขลกรวมกัน นำเครื่องแกงใส่หม้อตั้งน้ำให้เดือดใส่ปลาลงไป พอเดือดใส่ส้มมะขามหรือมะนาวลงไปก็ได้ให้รสชาติเปรี้ยวนำจากนั้นจึงใส่ผักคูณ ผักบุ้งเมือง ผักกูด มะเขือเทศ และใบแมงลักลงไปต้มให้ผักพอสลดก็ยกเสิร์ฟได้
แกงแค เป็นแกงผักรวมพื้นบ้านหลายๆ ชนิด ใส่เนื้อสัตว์ตามความชอบ แต่ที่นิยมคือแกงแคกบ ส่วนเครื่องแกงมีเพียงพริกขี้หนูแห้ง กระเทียม เกลือ กะปิโขลกรวมกัน แล้วนำเนื้อที่เตรียมไว้ย่างไฟให้พอหอม จากนั้นนำมาคลุกเครื่องแกงแล้วคั่วให้หอมจึงค่อยเติมน้ำ พอน้ำเดือดใส่ผักพื้นบ้านตามฤดูกาล ถ้ามีหวายก็ใส่หวายก่อน ตามด้วยมะเขือเปราะ มะเขือพวง ดอกแค ถั่วฝักยาว ชะอม ใบชะพลู ตำลึง ผักเผ็ด ใบพริก แค่นี้ก็ได้แกงแคแสนอร่อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีแกงขนุนซึ่งวิธีทำคล้ายแกงแค เพียงใส่กระดูกหมูและขนุนลงไป
ส้าบะเขือ นำมะเขือขื่นหรือมะเขือเปราะ ใบชะพลู ชะอม หัวปลี ล้างน้ำแล้วหั่นฝอยเตรียมไว้ จากนั้นเตรียมเครื่องปรุงมีตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง กะปิ โขลกรวมกันแล้วนำมาผัดกับหมูสับจนสุก จากนั้นนำเครื่องที่ผัดสุกแล้วมาขยำรวมกับผักที่เตรียมไว้ โรยหน้าด้วยแคปหมู ต้นหอมผักชี และโรยงาดำคั่วเพิ่มความหอม
ห่อนึ่ง/ แอ๊บ ห่อนึ่งมีวิธีการทำคล้ายห่อหมกของภาคกลาง คือนำเครื่องปรุงมีตะไคร้ กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง ขมิ้น เกลือ กะปิ โขลกพอหยาบ ใส่เนื้อ ต้นหอม ผักชี ใบมะกรูดซอย คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วเทลงบนใบยอห่อด้วยใบตอง แต่ไม่นิยมใส่กะทิแล้วนำไปนึ่ง เช่น ห่อนึ่งไก่ ห่อนึ่งหน่อไม้ ส่วนการแอ๊บคล้ายการงบ (ปิ้ง เผา) ของภาคกลาง แต่ภาคเหนือไม่ใส่กะทิใช้เนื้อสับละเอียดคลุกกับพริกแกงชนิดเดียวกับห่อนึ่งคลุกกับเนื้อใส่เนื้อ ต้นหอม ผักชี ใบมะกรูดซอย แล้วห่อด้วยใบตองย่างไฟอ่อนๆ เช่น แอ๊บอ่องออ (มันสมองหมู) แอ๊บไก่ แอ๊บปลา
ไก่มะแข่น ถือเป็นเมนูยอดนิยมตามร้านอาหารใน จ. น่าน มะแข่นหรือมะแขว่น ทางภาคกลางเรียกลูกระมาศหรือหมากมาศ เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นตามป่าดิบพบมากในภาคเหนือโดยเฉพาะ จ. น่าน คนเหนือนิยมนำเมล็ดแห้งของมะแข่นมาทำเป็นเครื่องเทศปรุงรสในอาหารพื้นบ้าน เช่น ใส่ในแกง ลาบ และหลู้ เนื่องจากมีกลิ่นหอมฉุนและมีรสเผ็ดร้อนคล้ายพริกไทย และเมนูยอดนิยมที่มาถึง จ. น่าน แล้วต้องไม่พลาด คือ ไก่มะแข่น ที่นำเมล็ดแห้งมาโขลกหยาบคลุกเคล้ากับน่องและปีกไก่ ใส่ซอสปรุงรสหมักให้เข้าเนื้อ แล้วนำไปทอดในน้ำมันร้อนๆ จนไก่สุกเหลืองหอมน่ากิน
ตานก๋วยสลาก / ตานสลาก / กิ๋นข้าวสลาก /หรือกิ๋นสลาก ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาของชาวล้านนา ที่มักมีการเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ถ้าเป็นภาษาไทยกลางเรียกว่า "สลากภัต" ก๋วยสลากจะมีอยู่ ๒ ลักษณะ "ก๋วยน้อย" เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติพี่น้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
"ก๋วยใหญ่" เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี สลากที่มักจัดทำเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะเอาวัตถุสิ่งสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผูกมัดติดกับต้นสลาก เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว เงินทองชนิดต่าง ๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน เส้นสลากก็จะถูกนำไปกองรวมกัน
เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ รูปละ ๕ – ๑๐ เส้น พระสงฆ์ ก็จะนำเอาเส้นสลาก ไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาสก่อนจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้น ๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีลให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี
ประเพณี "ตานก๋วยสลาก" หรือ "สลากภัต" นิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือหรือตั้งแต่เดือน กันยายน ถึง เดือน ตุลาคม ของทุกปี ณ ทุกวัดในจังหวัดน่าน