หน้าแรก   ห้องที่ 1   ห้องที่ 2   ห้องที่ 3   ห้องที่ 4   ห้องที่ 5   ห้องที่ 6   ห้องที่ 7   ห้องที่ 8   ห้องที่ 9   คณะกรรมการบริหาร

  หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน

  หออัตลักษณ์นครน่าน

ห้องที่ 3 สายสัมพันธ์ล้านนาตะวันออก

สายสัมพันธ์ล้านนาตะวันออก

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)และความเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน

เมืองโบราณชุมชนตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

เวียงกาหลง ตั้งอยู่บนเทือกเขาดอยดงในเทือกเขาดอยหลวง เขตบ้านป่าส้าน หมู่ที่ ๕ อำเภอเมืองเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไม่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัย หรือร่องรอยของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งในเมืองและรอบเมือง จึงสันนิษฐานว่าจุดมุ่งหมายในการสร้างเมืองเพื่อเป็นเมืองศูนย์กลางในการควบคุมชุมชนที่ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาในกลุ่มเตาเวียงกาหลง และใช้อพยพหนีภัยน้ำท่วมของชุมชนต่างๆ ในบริเวณนั้น รวมถึงใช้เป็นที่ตั้งค่ายทำสงคราม เนื่องจากรอบเมืองมีกำแพงเมืองและคูเมืองที่ลึกและกว้างมาก ส่วนทิศตะวันออกเป็นภูเขาสูงชัน ซึ่งข้าศึกเข้าโจมตีได้ยาก

           เมืองโบราณเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีการค้นพบเตาและชิ้นส่วนภาชนะต่างๆ ผังเมืองของเวียงกาหลงไม่เป็นรูปทรงเลขาคณิตเช่นเดียวกับเมืองโบราณส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณเนินเขา มีกำแพงคันดินและคูเมืองล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัสมุมมน คูเมืองอยู่ระหว่างกำแพงคันดินสองชั้น ขนาบคูเมืองอยู่ตรงกลาง แนวกำแพงเมืองด้านตะวันออกขนานไปกับแนวเขาสูงชัน ด้านตะวันตกสร้างอยู่บนลาดเนินเขา พื้นที่เมืองโบราณเวียงกาหลงมีทั้งหมดประมาณ ๔๓๐.๙๓๗๕ ไร่ คูเมืองและกำแพงคันดินโดยรอบยาว ๓,๓๕๐ เมตร

House

แผนที่

House

เตาเผา

House

เครื่องเซรามิค

House

เวียงกาหลงในอดีต


เมืองโบราณชุมชนเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

           ในสมัยอาณาจักรล้านนา“เวียงลอ” เป็นเมืองสำคัญอยู่ระหว่างเส้นทางคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองเชียงแสน เมืองเชียงของ เมืองเทิง เมืองพะเยา และเมืองน่าน ล้านช้าง ดังปรากฏในตำนานพระเจ้าทองทิพย์วัดสวนตาล เมืองน่านว่า ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ.๑๙๙๓ คราวที่เสด็จไปตีเมืองน่านยกทัพผ่านเมืองลอและตั้งขุนนางครองเมืองลอ ด้วยเวียงลอยังมีความสำคัญและมีผู้คนอยู่อาศัยมาตลอด แม้ว่าล้านนาจะตกอยู่ในอำนาจพม่า แต่พม่ายังให้ความสำคัญ โดยเจ้าเมืองลอมีฐานะเทียบเท่าเจ้าเมืองสาดและให้เมืองลอขึ้นกับเมืองพะเยา

           ในปี พ.ศ.๒๓๒๒ สมัยกรุงธนบุรี พระยากาวิละได้กระทำการไถ่โทษ โดยการตีเอาเมืองลอและเมืองเทิง กวาดต้อนผู้คนมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งชี้ให้เห็นว่า เมืองลอยังเป็นเมืองสำคัญและมีผู้คนอาศัยอยู่มาโดยตลอดเมืองลอร้างผู้คนและหมดความสำคัญลงในคราวที่พระยากาวิละยกทัพไปตีและกวาดต้อนผู้คนลงไปทั้งหมดนั่นเอง สมัยพระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าปกครองนครน่านได้ให้ขุนหลวงไชยสถานนำไพร่พลออกมาตั้งบ้านเรือนใหม่เรียกว่า “เมืองจุน” และรวมเอาเมืองลอไว้ด้วยกัน ปี พ.ศ.๒๔๔๓ เมืองลอ เมืองจุน เมืองเทิง นครน่าน เชียงของ รวมกันเป็นเขตปกครอง “นครน่านเหนือ” จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ ได้เลิกการปกครองบริเวณนครน่านเหนือ รวมถึงเมืองสะพาน แม่สรวย เวียงป่าเป้า เชียงราย เชียงแสน แม่จัน ยุบเมืองลอ และให้เมืองจุนเป็นตำบลขึ้นอยู่ในเขตการปกครอง เป็นมณฑลพายัพเหนือ วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖ กระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นตำบลลอ ตำบลจุนเป็นกิ่งอำเภอ ให้อยู่ในเขตปกครองของจังหวัดเชียงราย ต่อมาวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเป็น “อำเภอจุน จังหวัดเชียงราย จนถึงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ได้มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ คือ จังหวัดพะเยา ให้อำเภอจุนอยู่ในเขตการปกครองของจังหวัดพะเยา ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


เมืองโบราณเวียงสรอง อำเภอสอง จังหวัดแพร่

           เวียงสรองเป็นชุมชนโบราณขนาดใหญ่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง จากหลักฐานที่พบในการสำรวจตรวจสอบชั้นดินที่ก่อสร้างกำแพงเมืองโบราณ และพบเศษเครื่องเคลือบสมัยล้านนาเป็นจำนวนมาก จึงสันนิษฐานว่า เวียงสรองน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมา มีอายุร่วมสมัยกับอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสุโขทัย

           เมืองสรอง ตั้งอยู่ที่บ้านต้นผึ้ง ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง บนฝั่งแม่น้ำสองหรือแม่น้ำกาหลง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๒๐ ไร่ มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ๓ ชั้น รูปร่างไม่เป็นทรงเลขาคณิต สัณฐานเหมือนเมล็ดถั่วแดง โค้งไปตามลำน้ำ จากลักษณะของที่ตั้งของเมืองสรอง เชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญและเหมาะสมในการควบคุมจุดยุทธศาสตร์ลุ่มน้ำยม ส่วนที่จะผ่านจากเมืองแพร่ไปสู่ เมืองพะเยา เมืองเชียงราย และเมืองน่าน ภายในเมืองไม่มีวัดหรือโบราณสถานขนาดใหญ่ พบแต่เพียงกองอิฐเก่าอยู่ประปราย นอกเมืองไปทางทิศตะวันออก มีซากเจดีย์เก่าแห่งหนึ่งเดิมเรียกว่า ธาตุหินส้ม ต่อมาได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ และให้ชื่อว่า พระธาตุพระลอ

House

พระลอ



เมืองโบราณเวียงวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน

           ความเป็นมาของเวียงวรนครจากพงศาวดารเมืองน่าน เมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีล่วงมาแล้ว พญาภูคาเจ้าเมืองอย่างได้ราชบุตรบุญธรรมอยู่สององค์ องค์หนึ่งมีนามว่า “ขุ่นนุ่น” องค์น้องมีนามว่า “ขุนฟอง” ความว่า มีพรานป่าผู้หนึ่งอยู่ในเมืองย่างไปเที่ยวป่าล่าเนื้อ (กวาง) อยู่เสมอตามดอยตามเขา วันหนึ่งไปเห็นรอยเท้าจึงเดินตามไปจนถึงบนดอยภูคา เห็นต้นไม้ใหญ่ มีร่มเงากว้างขวาง งามดี จึงเข้าไปพักอยู่ใต้ร่มไม้นั้น และได้พบไข่ ๒ ฟอง มีขนาดใหญ่เท่าผลมะพร้าว พรานป่าผู้นั้นนำมาถวายพญาภูคา เมื่อพญาภูคาได้เห็นก็มีความยินดีเป็นอย่างมากถึงความอัศจรรย์ครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงนำเอาไข่ใบที่ ๑ ไปใส่ในก๋วยงิ้ว (กระบุงบรรจุนุ่น) อีกใบหนึ่งไปใส่ไว้ในก๋วยฝ้าย (กระบุงบรรจะฝ้าย) แล้วคอยดูไว้เป็นอย่างดี จนอยู่มาวันหนึ่งไม่นานนัก ไข่ในก๋วยงิ้วก็แตกออกมาก่อนเป็นบุรุษผู้ชาย รูปโฉมโนมพรรณวรรณะงามยิ่งนัก พญาภูคาก็รักเสมอดังลูกของตน ครั้นต่อมาไม่นาน ไข่ในก๋วยฝ้ายก็แตกออกมาเป็นบุรุษชาย รูปโฉมโนมพรรณวรรณะอันงามเสมอกันทั้ง ๒ องค์ พญาภูคาก็ใส่ชื่อผู้พี่ว่า “เจ้าขุนนุ่น” แล้วก็เบิกบายใส่ชื่อเจ้าผู้น้องว่า “เจ้าขุนฟอง” เมื่อเจ้าขุนนุ่นและเจ้าขุนฟอง เจริญวัยจนเป็นหนุ่ม พญาภูคาได้สร้างเมืองให้ราชบุตรบุญธรรมทั้งสองครอง ขุนนุ่นผู้พี่ได้ครองเมือง “จันทบุรี” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (โขง) ส่วนขุนฟองผู้น้องได้ครองเมือง “วรนคร” ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง “วรนคร” เนื่องมาจากพญานาค ได้เลือกชัยภูมิที่ดีเหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง “วรนคร” ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร ทรงมีพระโอรส ๑ พระองค์ ชื่อว่า “เจ้าเก้าเกื่อน” ต่อมาไม่นานพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เสนาอำมาตย์ ทั้งหลายจึงราชาภิเษกเจ้าเก้าเกื่อนเป็นพญาแทน ครั้นเมื่อพญาภูคาผู้เป็นปู่ได้รู้ว่าหลานของตนเป็นที่ถูกอกต้องใจแก่เสนาอำมาตย์และไพร่พลบ้านเมืองมวล พญาภูคาได้แต่งตั้งให้นางสนม ๒ คน มาเชิญเจ้าเก้าเกื่อนไปเสวยเมืองภูคาหรือเมืองย่าง เจ้าเก้าเกื่อนมิอาจขัดผู้เป็นปู่ได้ จึงมอบให้นางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่เมืองวรนคร ส่วนเจ้าเก้าเกื่อนไปเสวยเมืองย่างเป็นพญาแทนผู้เป็นปู่ ซึ่งต่อมาไม่นานพญาภูคาถึงแก่พิราลัย ด้านเมืองวรนครมีนางพญาแม่ท้าวคำปินปกครองอยู่ ข่าวก็รู้ไปถึงพญางำเมืองแห่งแคว้นพะเยา ได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจเข้ามา ยกเอารี้พลศึกมารบ ส่วนนางพญาแม่ท้าวคำปินไม่ทันรู้ตัว ข้าศึกก็เข้ามาล้อมเมืองไว้หมดสิ้น นางจะส่งข่าวไปให้พญาเก้าเกื่อนและจัดแต่งไพล่พลคนศึกออกสู้รบก็ไม่ทันพระนาง จึงได้เก็บเอาข้าวของเงินทองกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งหนีออกนอกเมืองไป เดินทางไปหลายวันก็ไปถึงไร่แห่งหนึ่ง นางได้ประสูติบุตรชาย ไร่นั้นอยู่ใกล้ลำห้วยแต่แล้งไม่มีน้ำที่จะอาบจะกิน นางจึงร่ำไห้ถึงสามี พรรณนาถึงวันที่พญา เก้าเกื่อนจะทิ้งไปว่า “เมื่อลูกเกิดมาเป็นผู้ชายโตขึ้นก็จักได้มาสร้างบ้านแปงเมืองให้เจริญรุ่งเรือง แต่ว่าบัดนี้ผู้ข้าพลอยหาน้ำที่จะกินจะอาบก็ไม่มี เมื่อรำพันเช่นนั้น แล้ว” ในขณะนั้นก็มีห่าฝนลมใหญ่ตกลงมาอย่างหนัก น้ำก็นองพัดก้อนหินก้อนผาเป็นที่น่าอัศจรรย์นัก หลังฝนหายไปวันนั้นเป็นวันอุโบสถถือศีลเดือนเพ็ญ นางก็อุ้มเอาลูกน้อยไปนั่งบนก้อนหิน อาบน้ำให้ลูกแล้วก็อุ้มไปพักในไร่กับเด็กหญิงที่หนีออกมาจากวรนครด้วยกัน วันรุ่งขึ้นชาวบ้านชาวไร่ได้ยินเสียงกุมารร้องก็เข้าไปดูเห็นนางพญา จึงไหว้และถามเหตุการณ์ นางพญาได้เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ทราบ ปรากฏว่านายบ้านผู้นั้นเป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่อายุได้ ๑๖ ปี จึงนำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็นก็มีใจเอ็นดูเลี้ยงดูไว้ ต่อมาให้ไปเป็นเจ้าเมืองปราด มีชื่อว่าเจ้าใสยศ แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (ปัว) เรียกนามว่า “พญาผานอง” เมืองวรนครจึงกลายชื่อมาเป็นเมืองปัวจนปัจจุบัน

House

ขุนฟอง ได้ปกครองเมืองวรนคร

House

พญาผานอง

House

ขุนนุ่น ได้ปกครองเมืองจันทบุรี
(เมืองหลวงพระบาง)


1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์