หน้าแรก   ห้องที่ 1   ห้องที่ 2   ห้องที่ 3   ห้องที่ 4   ห้องที่ 5   ห้องที่ 6   ห้องที่ 7   ห้องที่ 8   ห้องที่ 9   คณะกรรมการบริหาร

  หออัตลักษณ์นครน่าน วิทยาลัยชุมชนน่าน

  หออัตลักษณ์นครน่าน

ห้องที่ 8 มรดกทางธรรมชาติ

มรดกทางธรรมชาติ

มรดกธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดน่าน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆพร้อมเรื่องราวของสถานที่นั้นๆในจังหวัดน่าน

บ่อเกลือโบราณบนเทือกเขาสูง

           จังหวัดน่านมีแหล่งเกลือสินเธาว์โบราณขนาดใหญ่ ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเทือกเขาสูงหนึ่งเดียวในโลก ใช้ประโยชน์มานานจนกระทั่งทุกวันนี้ อยู่ในท้องที่อำเภอบ่อเกลือ บ่อเกลือที่สำคัญมี ๒ แห่ง คือบริเวณต้นน้ำว้า ซึ่งมีบ่อน้ำใหญ่ ๒ บ่อ กับบริเวณต้นน้ำน่าน ซึ่งมีบ่อใหญ่ ๕ บ่อ นอกจากนี้ ยังมีบ่อเล็กบ่อน้อยอีกเป็นจำนวนมาก

           เกลือสินเธาว์ของน่าน เป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นที่ต้องการของชุมชนบ้านเมือง แว่นแคว้นล้านนาในอดีต โดยรอบทั้งใกล้และไกล เพราะเป็นแหล่งผลิตเกลือแห่งเดียวในดินแดนภาคเหนือ พงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ทรงยกทัพมาตีเมืองน่านเมื่อ พ.ศ.๒๑๓๙ เพราะต้องการให้เมืองน่านส่งส่วยเกลือ ซึ่งเป็นอาหารจำเป็นและหายาก

           การเคี่ยวเกลือจะต้องมีการทำพิธีไหว้ผี เพื่อขออนุญาตตามประเพณีเป็นประจำโดยใช้สิ่งของบูชา ได้แก่ สุกร ไก่ สุนัข แต่ตำนานของชาวลัวะในสมัยก่อนกล่าวว่าทุกๆ ๓-๔ ปี จะเซ่นโดยใช้คน

           ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีดั้งเดิม คือนำเกลือมายังบ่อพัก แล้วต้มในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ เนื่องจากเกลือสินเธาว์ไม่มีสารไอโอดีนเหมือนเกลือทะเล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้เติมสารไอโอดีนก่อนถึงมือผู้บริโภค

House

บ่อเกลือโบราณ

House

บ่อเกลือโบราณ

House

บ่อเกลือโบราณ

House

บ่อเกลือโบราณ


เสาดิน หรือ ฮ่อมจ๊อม ไทลื้อ

           เสาดิน หรือที่ชาวน่านเรียกว่า ฮ่อมจ๊อม เป็นสภาพภูมิประเทศ ลักษณะเป็นภูเขาดินเกิดจากการสะสมตัวของตะกอน ที่เกิดจากการกัดเซาะของลำห้วยที่ไหลผ่านแอ่ง ซึ่งเกิดจากการเลื่อนตัวและยุบตัวของเปลือกโลก รวมทั้งตะกอนจากการชะล้างของฝนเมื่อครั้งยุคคลอเทอร์นารี คล้ายแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ แต่มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า เสาดินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแปลกตา ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านน้ำหก ตำบลเชียงของ อำเภอนาน้อย และยังเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากพบร่องรอยหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์รุ่นแรกในพื้นที่จังหวัดน่าน


ธรรมชาติรังสรรค์ มนต์ขลังแห่งเมืองน่าน ไทลื้อ

           จังหวัดน่านเป็นเมืองแห่งขุนเขา เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่เป็นเสมือนดังกำแพงโอบล้อมทุกด้าน กลุ่มขุนเขาสูงทอดตัวยาวทางตะวันออก ทอดยาวขนานไปกับสัณฐานเมืองน่านทั้ง ๒ ข้างนับตั้งแต่อำเภอทุ่งช้าง เชียงกลาง ปัว บ่อเกลือ สันติสุข ลงมาแม่จริม จรดสู่อำเภอเวียงสาและอำเภอนาหมื่น เป็นเทือกเขาขนานไปกับชายแดนลาวประกอบรวมกันเป็นกลุ่ม ด้วยเหตุที่มีพื้นป่าใหญ่สุดของจังหวัด จึงได้ขนานนามว่า เทือกเขาดอยภูคา พื้นที่ป่าเขาอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งต่อมาได้ประกาศจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ดินแดนดังกล่าวเสมือนเป็นที่เก็บความงดงามของธรรมชาติมากมาย ประกอบด้วยพันธุ์ไม้เมืองหนาวบนพื้นที่สูงมากมาย อาทิต้นปาล์มยักษ์พันปี และต้นชมพูคา ซึ่งพบว่าเป็นต้นไม้พันธุ์หายากที่คาดว่าจะสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อราว ๓๐ ปีก่อน


พันธุ์ไม้หายากใกล้สูญพันธุ์ ชมพูภูคา (Bretschneidera sinensis Hemsl) ไทลื้อ

           เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓๐ เมตร ดอกมีสีชมพู ลักษณะเป็นช่อ ออกตามปลายกิ่ง ช่อตั้งตรงยาว ๓๐-๔๕ เซนติเมตร ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อดอกบานจะชิดกัน ทำให้ช่อดอกเป็นพุ่มสวยงาม

           ต้นชมพูภูคา สำรวจพบครั้งแรกในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ในป่าดิบเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๕๐๐ เมตร ในเขตอำเภอปัว เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๒มีการพบพันธุ์ไม้ชนิดนี้ ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีนใต้ และทางเหนือของประเทศเวียดนามมานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว จากนั้นไม่มีรายงานการค้นพบอีก เชื่อว่าพื้นป่าดิบเขาบนดอยภูคาอาจเป็นแหล่งกำเนิดสุดท้ายของชมพูภูคา ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของจังหวัดน่าน


เอื้องจำปาน่าน (Dendrobium sulcatum Lindl) ไทลื้อ

           เป็นกล้วยไม้อิงอาศัยต้นไม้ใหญ่ สูง ๒๕-๔๐ ซ.ม. ลำต้นแบนตั้งขึ้น กว้าง ๒-๓ ซ.ม. ส่วนโคนเรียวคอดใบรูปรีกว้าง ๔-๕ ซ.ม. ยาว ๖-๘ ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อใกล้ปลายยอดยาว ๙-๑๒ ซ.ม. ห้อยลง ดอกย่อยเรียงแน่นเป็นพุ่มจำนวน ๑๐-๑๕ ดอกสีเหลือง กลีบปากมีแต้มสีเลือดหมูที่โคนกลีบ ดอกบานเต็มที่กว้าง ๒ ซ.ม. มีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พบตามป่าดิบเขาทางภาคเหนือโดยเฉพาะที่จังหวัดน่าน


เต้าร้างยักษ์ (Caryota gigas Hahn ex Hodel) ไทลื้อ

           เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ ประเภทพืชเฉพาะถิ่น พบเฉพาะบนดอยภูคา นอกจากนี้ยังมีต้นปาล์มดึกดำบรรพ์ ไข่นกคุ้ม เหลืองละมุน จำปีช้าง คัดเค้าภูคา ประทัดน้อยภูคา รางจืดภูคา ซึ่งหายากและพบเฉพาะที่จังหวัดน่าน

1 / 3
2 / 3
3 / 3
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์
ภาพถ่ายห้องฉายวีดีทัศน์